9 เทคนิคง่ายๆ ทำยังไงไม่ให้ติดตม.ญี่ปุ่น และผ่านตม.ไปเที่ยวญี่ปุ่นได้อย่างสบายใจ
Photo: Vincent_AF [CC BY-SA 2.0] from flickr.com/photos/archetypefotografie/5101247255
หลังจากที่ญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นได้เลยโดยไม่ต้องขอวีซ่าเป็นเวลา 15 วัน ก็มีนักท่องเที่ยวไทยเป็นจำนวนมากนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็มีคนไทยส่วนน้อยส่วนหนึ่งที่อาศัยช่องว่างนี้ ทำเรื่องผิดกฏหมาย จนออกข่าวเรื่อยมา ไม่ว่าจะแอบเข้าไปทำงาน ขนยาเสพติด และอื่นๆ จนล่าสุดเริ่มมีนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้นที่ถูกกักตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้วมาโพสแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลต่างๆ จนนักท่องเที่ยวหลายๆคนเริ่มเป็นกังวลกันไปต่างๆนาๆว่าจะโดนกักตัวบ้างมั้ย หรือควรทำตัวอย่างไรจึงจะผ่านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังจะไปประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก คงจะกังวลกันมากเป็นพิเศษเลย
เอาล่ะเกริ่นนำกันมาเยอะแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเวลามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า แล้วเราจะทำยังไงล่ะ ถึงจะไม่ให้ติดตม.ญี่ปุ่น
จริงๆแล้ว เรื่องที่สำคัญที่สุด ในการจะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่ว่าจะประเทศไหนๆก็แล้วแต่ คือ การที่ “เจ้าหน้าที่ตม. เค้าเชื่อใจเรามั้ย” แค่นั้นเอง เพราะอำนาจเด็ดขาดสุดท้ายจะอยู่ที่”เจ้าหน้าที่คนนั้น”แต่เพียงผู้เดียว จึงสรุปใจความสำคัญของการผ่านด่านตม.ได้ง่ายๆ คืออยู่ที่ การทำยังไงก็ได้ให้คนที่ไม่รู้จักเราเลย “เค้าเชื่อเรา” คือเชื่อว่าเราเป็นแค่นักท่องเที่ยวที่จะแค่มาเที่ยวชมประเทศเค้าจริงๆ ก็เท่านี้เองไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่านี้เลยจริงๆนะ
ก่อนจะเข้าเรื่อง จะขอบรรยาสภาพโดยทั่วไปของด่านตรวจคนเข้าเมืองให้ฟังกันก่อน สำหรับใครที่ยังไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศจะได้พอเห็นภาพว่าจะเป็นอย่างไรกันบ้าง ซึ่งประเทศไหนๆก็จะคล้ายๆกันหมด เราทั้งไทย และญี่ปุ่นด้วย ใครไปมาหลายประเทศแล้วก็ข้ามย่อหน้านี้ไปได้เลย โดยทั่วๆไป ที่บริเวณตรวจคนเข้าเมือง ทุกคนที่จะเข้าประเทศจะต้องไปยืนต่อคิวเข้าตามช่องต่างๆ ซึ่งมักจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับคนญี่ปุ่น และสำหรับชาวต่างชาติ ผู้โดยสารจากทุกสายการบินทุกประเทศจะมารวมกันตรงนี้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ในตู้ หยิบพาสปอตเราไปเช็คในระบบ, แสกนลายนิ้วมือ นิ้วชี้ทั้ง 2 ข้าง, มองกล้องถ่ายรูป, แล้วอาจจะมีสอบถามเรื่อยเปื่อยเล็กน้อย แล้วก็ปั้มผ่าน Welcome to Japan เป็นอันจบ ซึ่งในวันๆหนึ่ง มีคนผ่าน ตม. เป็นหลักแสนหลักล้านคน กระบวนการส่วนใหญ่จึงจะผ่านไปแบบรวดเร็ว ต่อให้เป็นคนไทยก็ตาม ส่วนใหญ่จะยังปล่อยผ่านไปเร็วๆเหมือนกัน จะมีเพียงบางส่วนที่น้อยมากๆ ที่เจ้าหน้าที่ “มีความรู้สึกว่า น่าสงสัย” ก็อาจจะสอบถามเพิ่มเติม ขอดูเอกสาร จนถึงเรียกเข้าห้องเย็นไปสอบถามเพิ่มก็ได้
ทีนี้หลายคนคงจะมีคำถามแล้วว่า แล้วจะทำยังไงให้เค้าเชื่อเราล่ะ? ว่าเราจะมาเที่ยวจริงๆ? ในบทความนี้เราเลยรวบรวมคำแนะนำต่างๆที่หลายๆคนแนะนำว่า ควรทำ ใช้แล้วได้ผล ผ่าน ตม.ญี่ปุ่นกันฉลุย รวมทั้งเรื่องที่ ไม่ควรทำ จากประสบการณ์คนไทยที่ติดตม.จะได้ไม่ไปเผลอทำกันซะด้วย
[wp_ad_camp_1]เล่ากันมามากแล้ว เรามาเข้าเรื่องกันจริงๆกันซะทีดีกว่า กับ 9 คำแนะนำที่ควรปฏิบัติเพื่อให้ผ่าน ตม. ญี่ปุ่นได้ง่ายๆ
1. ทำอารมณ์ให้สดชื่น
คือ เรากำลังจะไปเที่ยวประเทศที่เราวางแผน รอคอยกันมานาน เรามาถึงแล้ว เราก็ควรจะทำหน้าตา อารมณ์ให้สดชื่นแจ่มใสเข้าไว้ ไม่ต้องไปกังวลอะไรมากมาย ทำให้ดูชิวๆเข้าไว้ ก็ธรรมชาติของนักท่องเที่ยวนั่นแหล่ะ
2. ดวงตา เป็นหน้าต่างของหัวใจ
ตอนยื่นพาสปอตไปให้เจ้าหน้าที่ ตม. ก็มองเค้าไปเลย แบบปกติ อย่าไปหลบตา หรือทำท่าส่อพิรุธ พูดเซย์ Hello ออกไปด้วยก็ได้ ทำตัวเป็นมิตร มองตา ยิ้ม แบบธรรมชาติน่ะ น่าจะนึกกันออก ถ้าเค้าถามอะไรมา ก็ให้ตอบเค้าไปแบบธรรมดา ตามธรรมชาติ แบบคนคุยกัน
3. พูดจาฉะฉาน มั่นใจ ไม่ตื่นเต้นจนเกินเหตุ
เวลาคุยกับเจ้าหน้าที่ เค้าถามอะไรมาก็ตอบเค้าแบบธรรมชาติ ฝึกภาษาอังกฤษไปบ้าง นิดๆหน่อยๆ มีไม่กี่อย่างหรอกที่เค้าจะถาม เช่น มาทำอะไร, ไปที่ไหนบ้าง, พักที่ไหน, มากี่วัน, มากับใคร อะไรประมาณนี้ ถ้าฟังไม่เข้าใจก็ถามเค้ากลับไปได้เลย เหมือนคนคุยกันน่ะ ยิ่งถ้าเราไปตรงกับงานเทศกาลหรืออะไรที่มันเฉพาะเจาะจงก็ให้บอกได้เลย
4. การแต่งตัว
ข้อนี้ไม่ใช่ว่าจะให้ใส่สูท ผูกไท หรืออะไร แต่ให้แต่งตัวให้เหมาะสมกับช่วงเวลา หน้าหนาวก็ควรมีเสื้อหนาว แต่งตัวให้เหมือนกับการไปเที่ยวหน่อย, สะพายกล้อง, แว่นกันแดด, รองเท้าผ้าใบ อะไรอย่างงี้ ไม่ใช่แต่งตัวแบบจะมาใช้แรงงาน อันนี้คงไม่ต้องขยายความกันต่อนะ
5. ใบขาเข้า
ในแบบฟอร์มขาเข้าในกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนเรียบร้อย กรอกให้ละเอียดตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ตรงนี้ไม่มีอะไรยาก กรอกให้เสร็จตั้งแต่บนเครื่องบินได้เลยยิ่งดี จะได้ไม่รน
6. ถ้าไปกันเป็นครอบครัว ยื่นพาสปอตไปพร้อมกันเลยก็ได้
ถ้ามากันทั้งครอบครัวหลายคน เค้าแทบจะปล่อยผ่านกันแบบ 100% เลยล่ะ เพราะงั้นถ้าไปกัน พ่อแม่ลูก ก็ยื่นรวมกันไปเลย แต่ควรจะนามสกุลเดียวกันด้วยนะ ชิวแน่นอน
7. เตรียมเอกสาร หลักฐานให้ครบถ้วน
โดยทั่วไป 90% น่าจะไม่มีปัญหาอะไร ดูหน้า ดูพาสปอต แล้วปั้ม บางคนอาจจะมีถามไปงั้นๆบ้าง นิดๆหน่อยๆพอเป็นพิธี แต่ถ้ามีอะไรที่เราตอบผิดจากที่เค้าคาดหวังไว้ หรือเค้าสงสัยเรามากขึ้น ให้สังเกตได้ว่า เค้าจะถามคำถามเราซ้ำแบบเดิมที่เราตอบไปแล้ว แปลว่าเค้าไม่เชื่อคำตอบอันนั้นของเราแล้ว ถึงตรงนี้ให้หยิบเอกสารที่เราเตรียมเอาไว้แล้ว ออกมาให้เค้าดูได้เลย คำถามไหนที่เค้าถาม ก็หยิบอันนั้นให้เค้าดู ถามเรื่องที่พัก ก็เอาใบจองโรงแรมให้เค้าดู ถามเรื่องมากี่วัน ก็เอาใบจองเครื่องบินขากลับให้เค้าดู ถามเรื่องแผนการเที่ยว ก็เอาแผนการเที่ยวให้เค้าดู เพราะฉะนั้นหลักฐานเอกสารพวกนี้จึงควรพกติดตัวไปด้วยทุกคน รวมถึงควรจะทราบแผนการเที่ยวคร่าวๆไว้บ้าง แบบมากี่วัน พักที่ไหน โรงแรมชื่ออะไร เที่ยวไหนบ้างอะไรงี้
ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ต้องกลัวอะไร ยังเป็นเรื่องปกติอยู่ที่เค้าดูเอกสารเรา จริงๆอาจจะไม่ดูด้วย แค่อยากรู้ว่าเรามีเอกสารมาโชว์จริงหรือป่าวด้วยซ้ำ
8. ถ้าไปกับเพื่อน เตรียมคำตอบกันไว้ให้ดี
ถ้าไปกับเพื่อน ไม่ว่าจะเพื่อนที่เรียน เพื่อนแถวบ้าน เพื่อนที่ทำงาน หรือเพื่อนอะไรก็แล้วแต่ แล้วโดนพร้อมกัน เค้าก็จะมีคำถามเพิ่มเติมประมาณว่า เป็นอะไรกัน รู้จักกันยังไง รู้จักกันดีแค่ไหน รู้จักกันมานานแค่ไหน เพื่อนเราทำงานอะไร ที่อยู่ของเพื่อนเรา ถ้าเราตอบตรงกันก็ชิว แต่ถ้าตอบไม่ตรงกันโอกาส ติดตม. จะสูงมาก ทางที่ดีโดนคนเดียวน่าจะดีกว่า นอกเสียจากว่าจะให้เพื่อนที่ภาษาดีหน่อย รู้รายละเอียดของทริปดี พาสปอตไปมาหลายประเทศแล้ว เข้าไปก่อนเลย พอผ่านแล้วให้เค้าบอกด้วยว่ามากันกี่คนให้ชี้กลับมาเลยว่ามาพร้อมกับ คนนู้น คนนั้น จะช่วยให้ง่ายขึ้นได้
9. ถ้าไปคนเดียว หรือโดนเรียกตรวจคนเดียว
ในกรณีที่โดนเรียกเข้าห้องเย็นจริงๆแล้ว ก็ยังมีโอกาสรอดกลับออกไปเที่ยวได้อยู่มากนะ ถ้าเราทำให้”เค้าเปลี่ยนใจมาเชื่อเรา”ได้ ตรงนี้เอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวเราจะช่วยได้ดี เช่น หลักฐานการทำงาน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ก็ต้องมีหลักฐานการทำงานทั้งนั้น ไม่ว่าจะพนักงานกินเงินเดือน Freelance เจ้าของธุรกิจ เช่น บัตรพนักงาน, ใบรับรองการทำงานจากบริษัท, ถ้าเป็น Freelance ก็เช่นผลงานของเรา หลักฐานรายได้ของเรา หรือ ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาก็ สถานะทางการเรียน ใบรับรองการศึกษา ถึงแม้คนส่วนมากจะมาไม่ถึงขั้นนี้ และโอกาสโดนส่งกลับน่าจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างจะมากแล้ว เค้าก็ยังให้โอกาสเราอธิบายหรือแสดงความจริงต่างๆออกมาอยู่ดี เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ถ้าเรามีอะไร งัดออกมาให้หมดเลยอะไรก็ได้ที่จะทำให้ เค้าเชื่อ ว่าเรามาเที่ยวจริง เพราะนี่อาจจะเป็นโค้งสุดท้ายของเราแล้วก็ได้นะ
ครบแล้วกับ 9 คำแนะนำสำหรับตะลุยผ่านตม.ญี่ปุ่น ของเรา ซึ่งเชื่อว่าถ้าทำได้ตามคำแนะนำข้างต้นทั้งหมดจะทำให้ผ่าน ตม.ญี่ปุ่นหรือตม.ที่ไหนก็แล้วแต่ได้มากกว่า 99% เลย แต่อย่างไรก็ต้องเผื่อใจไว้บ้าง เพราะอย่างที่บอกไว้ตอนต้นของบทความว่า ทั้งหลายทั้งมวลของการจะผ่านหรือจะติดตม. ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น คนที่มันตรวจเรา เพียงคนเดียวเท่านั้น ความจริงไม่สำคัญต่อให้เรามีหน้าที่การงานดีถูกต้องและเดินทางมาเพื่อเที่ยวจริงๆ แต่ถ้า “ตม.ที่ตรวจเรา ไม่เชื่อ” ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย และเมื่อขึ้นชื่อว่า มนุษย์ คงจะไปถามหามาตรฐาน 100% เป็นไปไม่ได้ คงจะต้องมีผิดพลาดบ้าง มีอารมณ์บ้าง มีอคติบ้าง ทำให้แม้เราจะทำดีที่สุดแล้ว ก็ยังอาจจะ “ซวย” ได้อยู่ดี ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในหลายกรณีซึ่งเราจะหาอ่านได้ตามที่ต่างๆบนโลกออนไลน์
อย่างไรก็ตาม แม้จะฟังดูเหมือนแย่ แต่โอกาสเกิดขึ้นนั้นน้อยมากกกกก ก.ไก่ล้านตัว อย่างกับถูกลอตเตอรี่กันเลยทีเดียว และถ้าใครที่โดนกักตัวส่งกลับจริงๆ ก็ให้ทำใจดีๆไว้ อย่าไปเครียดมาก คิดซะว่า “ซวย” ก็แล้วกัน หรือมองโลกในแง่ดี เราเป็นหนึ่งในพันหรือในหมื่นเลยนะ กลับมาไทยอาจจะถูกลอตเตอรี่จริงๆก็ได้ (อันนี้พูดเล่น)
ยังไงก็ขอให้ทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ ผ่านตม.ญี่ปุ่นกันได้แบบสบายๆ 2 นาทีเสร็จก็แล้วกันนะ
บทส่งท้าย เผื่อใครจะอยากรู้ว่าถ้าจะโดนส่งกลับแล้วมันเป็นยังไง มันก็จะไม่ค่อยน่าอภิรมณ์นัก สภาพในตอนส่งกลับก็จะให้ไปรวมกันในห้องโถงใหญ่ๆ หรือห้องแยกแล้วแต่สนามบิน โดยในห้องส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย รอให้มีเครืองบินที่มีที่นั่งว่าง เค้าก็จะใส่เราเข้าไป เราเป็นคนออกค่าเครื่องบินขากลับเพิ่มเอง ระหว่างที่รอเค้าก็จะไปเอากระเป๋าเรามาให้ และระหว่างรอก็มีของกินนิดๆหน่อยๆให้ ระหว่างวันทั้ง 3 มื้อ