สิ่งของต้องห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่นที่ควรรู้ไว้


อย่างที่เราทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรม, มารยาททางสังคมและกฎระเบียบ รวมไปถึงกฎหมายที่ค่อนข้างเข้มงวดและเอาจริงเอาจังสำหรับทั้งประชาชนในประเทศและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปไม่ว่าจะเพื่อการท่องเที่ยวหรือเพื่อทำงานก็ตาม ดังที่เห็นได้จากข่าวสารต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงคนไทยเราเองที่ได้ละเมิดกฎข้อห้ามต่างๆ เข้าทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจผ่านสื่อต่างๆ นั่นเอง ดังนั้นก่อนที่คุณจะเดินทางเข้าญี่ปุ่นจึงควรจะต้องมีการศึกษากฎและข้อห้ามต่างๆ ให้ละเอียดและรอบคอบเสียก่อน เพื่อการเดินทางของคุณจะได้เป็นไปอย่างราบรื่นและสะดวกที่สุด

รายการสิ่งของต้องห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่น

  1. รายการยาเสพติด ได้แก่ เฮโรอีน, โคเคน, MDMA, ฝิ่น, กัญชา, สารกระตุ้นหัวใจ, ยาหรือสารทางจิตเวช และยาเสพติดอื่นๆ (ยกเว้นยาที่ได้รับอนุญาตจากระทรวงสาธารณสุข, ระเบียบแรงงานและสวัสดิการประเทศญี่ปุ่น – Ministry of Health, Labour and Welfare Ordinance) รวมไปถึงรายการยาประจำตัวหรือยาทั่วไปในไทยที่ห้ามนำเข้าญี่ปุ่น
  2. อาวุธ ได้แก่ อาวุธปืนทุกชนิดและทุกขนาด รวมถึงกระสุนและชิ้นส่วนอาวุธปืน
  3. วัตถุระเบิด ไม่ว่าจะเป็น ไดนาไมต์, ดินปืนหรือสารอื่นๆ ที่สามารถใช้ทำระเบิดได้
  4. สารตั้งต้นสำหรับอาวุธเคมี
  5. เชื้อโรคที่มีแนวโน้มที่จะสามารถถูกนำมาใช้เพื่อก่อการร้ายทางชีวภาพได้
  6. สินค้าปลอม-สินค้าลอกเลียนแบบ อาทิ ธนบัตรปลอม, หลักทรัพย์หรือบัตรเครดิตปลอม และอื่นๆ
  7. สิ่งของที่ป้ายไม่ตรงความเป็นจริง
  8. หนังสือ, ภาพวาด, ชิ้นงานแกะสลักและบทความอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือศีลธรรม ที่มีเนื้อหาลามกอนาจารหรือผิดศีลธรรมต่อประเทศ เช่น สื่อลามก เป็นต้น(ข้อนี้ตลกดีเนอะ)
  9. ภาพอนาจารของเด็ก
  10. บทความที่มีการละเมิดสิทธิ์ในทางทรัพย์สินทางปัญญา
  11. สัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่น
  12. สินค้าที่เข้าข่ายตามอนุสัญญาวอชิงตัน

อนุสัญญาวอชิงตัน คืออะไร?

อนุสัญญาที่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือเรียกโดยย่อว่า ไซเตส (CITES) และเป็นที่รู้จักในชื่อสั้นๆ ว่า อนุสัญญากรุงวอชิงตัน (Washington Convention) โดยเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งมีประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยเราเองก็ลงนามเข้าร่วมด้วยเช่นกัน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคามโดยใช้ในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นหากคุณมีรายการสินค้าหรือสิ่งของใดที่เข้าข่ายจะต้องมีหนังสืออนุญาตทั้งนำเข้าและส่งออกอย่างถูกต้องเท่านั้น

ชนิดสายพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีอนุรักษ์ของอนุสัญญากรุงวอชิงตัน

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) ชนิดของสายพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา, วิจัยหรือเพาะพันธุ์ อาทิ พืชป่าเอื้องปากนกแก้ว, กอริลลา, ชิมแปนซี, เสือ, เสือดาว, ช้างและพะยูน เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ชนิดของสายพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายหรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนใกล้จะสูญพันธุ์ อาทิ หมีดำ, นกแก้วจักจั่น, หอยสังข์ราชินี, พืชป่าแก้วเจ้าจอมและพะยูง เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3 (Appendix III) ชนิดของสายพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีสมาชิกให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิดแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถนำเข้าได้ อาทิ พืชป่าเมื่อยขาว เป็นต้น


ขอบคุณรูปสวยๆจาก:
ARTS_fox1fire @ flickr.com/photos/46976402@N05/5820620869/

- ที่เที่ยวแนะนำ - จุดชมซากุระ - จุดชมใบไม้เปลี่ยนสี - เป็นมรกดโลก
Exit mobile version