ภาษาถิ่นของชาวโอซาก้า


ภาษาพูดที่เป็นภาษามาตราฐานของญี่ปุ่นคือภาษาที่ผู้คนในกรุงโตเกียวและผู้คนทั่วประเทศใช้พูดคุยในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม แทบทุกภูมิภาคของญี่ปุ่นต่างก็มีภาษาถิ่นของตนเองทั้งนั้น สำหรับชาวโอซาก้ามีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่เรียกกันว่า “Osaka Ben” ซึ่งมีศัพท์และสำเนียงเฉพาะใช้กันอย่างกว้างขวางในภูมิภาคคันไซ (ภาคตะวันตกของประเทศ)
Ookini

Ookini(おおきに)หมายความว่า “ขอบคุณ” หรือ “Ariigato” ในภาษามาตราฐาน คนโอซาก้านิยมจบประโยคหรือการสนทนาด้วยคำว่า “Ookini” อยู่บ่อยๆ เพราะคำดังกล่าวช่วยสร้างความนุ่มนวลและความรู้สึกที่ดีต่อกันได้

เดิมที “Ookini” มาจากคำว่า “Ooi-ni” ซึ่งหมายความว่า “มากๆ” เช่น “Ookini Arigato” หรือ “ขอบคุณมากๆ” “Ookini Gokurosan” หรือ “เหนื่อยมากซินะ” แต่นานวันเข้า จึงค่อยๆหดสั้นเข้าเหลือเป็นคำๆเดียวว่า “Ookini” ในบรรดาศัพท์ในภาษาถิ่นของโอซาก้าหลายๆคำ คำว่า “Ookini” จะถูกใช้บ่อยมาก เช่นเมื่อเวลาเจ้าของร้านอาหารส่งแขกกลับหลังจากรับเงินค่าอาหารแล้ว หรือในกรณีที่ต้องการขอโทษเมื่อรู้สึกว่าตนได้ทำอะไรเป็นที่ไม่พอใจของฝ่ายตรงข้าม คนโอซาก้าก็จะใช้คำพูดว่า “Ookini Sumahen” (ขอโทษนะ) พ่อค้าแม่ค้าชาวโอซาก้าชอบพูดว่า “Ookini Kangae Tokimasu”(อีอ ขอบคุณ คิดดูก่อนนะ) ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หมายความว่าเขากำลังปฏิเสธข้อตกลงกับคุณอยู่อย่างละมุนละไมนั่นเอง
Nambo

Nambo(なんぼ)”Nambo” เป็นภาษาถิ่นอีกคำหนึ่งที่ท่านจะได้ยินชาวโอซาก้าพูดเป็นประจำ หมายความว่า “เท่าไร” หรือ “O-Ikura Desu Ka” ในภาษามาตราฐาน เวลาคนโอซาก้าพูดคำนี้ มักจะลากเสียงยาวๆตรงคำหลังว่า “Chotto Kore Nan Bo? ” (พี่ๆ ไอ้นี่เท่าไรเล่อะ?) พร้อมมือชี้ไปที่สินค้าที่ตนต้องการ เมื่อพนักงานร้านมาถามไถ่ว่าต้องการอะไร

และคล้ายๆกับคนไทยตรงที่คนโอซาก้าชอบต่อราคาสินค้า โดยใช้คำเดียวกันนี้ว่า “Otchan, kore nambo ni shite kurerun? ” (ลุงๆ ไอ้นี่จะคิดเท่าไรเล่อะ?) หรือหมายความว่า “ลุงอย่าบอกผ่านนะ” ตามตลาดสดหรือร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าย่าน Nipponbashi บ่อยครั้งที่ลูกค้าจะต่อราคากับพนักงานขาย ซึ่งก็มักจะได้รับลดราว 1,000-2,000 เยน แต่ถ้ามาเจอคนไทยต่อ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนโอซาก้าจะสู้ได้หรือไม่
Shaa-nai

Shaa-nai(しゃあない)”Shaa-nai” นั้นอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ช่วยไม่ได้จริงๆ” หรือ “อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด” ซึ่งผู้พูดเองก็ค่อนข้างลำบากใจกับการยอมรับสถานการณ์นั้นๆ เช่นในอดีต เมื่อนักรบมีชื่อของโอซาก้าเช่น Kutsunoki Masashige หรือ Sanada Yukimura ต้องถอยไปปักหลักสู้บนขุนเขาและท้ายสุดต้องพ่ายแพ้ทั้งๆที่รู้ล่วงหน้าแล้วว่าไม่มีทางชนะ เขาทั้งสองคงอยู่ในสภาพความรู้สึกว่า “Shaa-nai” จำต้องสู้ด้วยสปิริตของนักรบจนถึงที่สุด

โดยปกติ คนโอซาก้าเป็นคนร่าเริง ชอบคุยสนุกขบขันและมีน้ำใจต่อผู้อื่นทั้งหญิงและชาย แต่ในยามขับขัน ก็สามารถรวบรวมพลังต่อสู้กับอุปสรรคได้ ในยามที่ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำหรือรู้ว่าทำแล้วก็ไม่ได้ดังหวังก็ตาม พวกเขาจะพูดว่า “Shaa-nai Yaruka?” (จะเอาไงก็เอากัน)
Bochi-bochi

Bochi-bochi(ぼちぼち)”Bochi-bochi” มักจะเป็นคำตอบที่มาพร้อมกับคำถามว่า “Mokari-makka? ” ซึ่งหากแปลตรงตัวก็จะได้ความหมายว่า “เป็นไง รายได้ดีไหม? ” และทุกครั้งคำตอบก็จะเป็นว่า “ก็เรื่อยๆ” เนื่องจากโอซาก้าเป็นเมืองที่ผู้คนทำการค้ากันมาก ผู้คนจึงทักทายกันด้วยสภาพเศรษฐกิจเป็นนิจสิน แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพค้าขายก็ตาม ก็นิยมทักทายกันด้วยคำพูดข้างต้น ซึ่งหมายความง่ายๆว่า “เป็นไง สบายดีหรือ? ” และคำตอบก็คือ “เรื่อยๆ” คล้ายๆคนไทยนั่นเอง ซึ่งถ้าจะให้พูดเป็นสไตล์โอซาก้ามากๆ ก็ต้องตอบว่า ” Bochi-bochi denna” (ก็เรื่อยๆนะแหล่ะ)

คำว่า “Bochi-bochi”นี้ ถ้าจะอธิบายตามหลักภาษาศาสตร์แล้ว เป็นคำที่มาจากคำว่า “Botsu-botsu” ในภาษามาตราฐาน หมายความว่า “ทีละนิดๆ” ไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นกระทันหัน คนโอซาก้าจะใช้คำว่า “Bochi-bochi” ในความรู้สึกที่ว่า ค่อยๆทำ ไม่ต้องลงแรงหรือตั้งอกตั้งใจมาก “Hona Bochi-bochi ikoka?” (เอาล่ะ ได้ฤกษ์ไปกันได้แล้วมั้ง?)

คนโอซาก้ามักมีจังหวะการคิดการทำที่ไม่ยืดยาดและก็ไม่เร่งรีบ ดังคำศัพท์ “Bochi-bochi” นี้ฉันใดฉันนั้น
Maido

Maido(まいど)”Maido” เป็นศัพท์อีกคำหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยๆในหมู่พ่อค้าชาวโอซาก้า ย่อมาจาก “Maido Domo” หมายความว่า “ขอบคุณทุกครั้งที่มาอุดหนุน” พนักงานร้านค้ามักจะใช้ทักทายกับลูกค้าประจำด้วยคำพูดข้างต้นนี้บ่อยๆ ปกติ คนญี่ปุ่นแทบทุกบ้านมักจะสั่งข้าวสารหรือเหล้าเบียร์จากร้านค้าใกล้ๆซึ่งเป็นลูกค้าประจำกัน เมื่อพนักงานร้านนำของมาส่งให้ที่บ้าน ก็มักจะกดกริ่งแล้วเดินเข้าไปเองอย่างคุ้นเคย ปากพลางส่งเสียงบอกเจ้าของบ้านว่า “Maido Domo” ในกรณีนั้น จะหมายความว่า “หวัดดีคร้าบ ผมเอาของมาส่งให้แล้วน้า” อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้คำ “Maido” นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

   
   

เรื่องต้องรู้ของคนเที่ยวโอซาก้า

 

>>> แนะนำ โรงแรมที่พัก โอซาก้า อัพเดตล่าสุด <<<

where-to-stay-in-tokyo    

>>> รวมที่เที่ยวโอซาก้า สุดฮิต ห้ามพลาด <<<

       
ขอบคุณรูปสวยๆจาก:
แหล่งข้อมูล: osaka-info.jp

Exit mobile version